ฮอร์โมนเพศ

February 20, 2022

ในร่างกายของคนเรา ประกอบด้วยสารเคมีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘ฮอร์โมน’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสารและทำหน้าที่ร่วมกันกับอวัยวะต่างๆ เพื่อให้ร่างกายของคนเราสามารถทำงานได้อย่างปกติ เราจึงควรทำความรู้จักเพื่อให้รู้ทันหากเกิดความผิดปกติ

กลุ่มฮอร์โมนเพศ

1. เทสโทสเตอโรน (Testosterone)

ฮอร์โมนเพศชายที่หลั่งมาจากอัณฑะ ต้องใช้คอเลสเตอรอลในการสังเคราะห์ ฉะนั้นร่างกายจึงต้องมีไขมันเพื่อสังเคราะห์เป็นฮอร์โมนเพศได้ ฮอร์โมนเพศชายจะทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เด็กจนโตลักษณะเป็นผู้ชาย มีกล้ามเนื้อใหญ่ขึ้น มีหนวด เครา ขน เสียงแตก และมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศ ถ้าหากฮอร์โมนทำงานปกติร่างกายก็จะไม่มีปัญหาและมีการพัฒนาไปตามวัย แต่ถ้าหากมีฮอร์โมนเพศชายต่ำ ในเด็กจะมีการพัฒนาเป็นเพศชายที่ไม่สมบูรณ์ แต่หากลดลงตามวัยเริ่มลดลงเมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป หากเกิดลดลงก่อนวัยอันควรจะมีผลกับกล้ามเนื้อ มวลของกระดูก มีความเสี่ยงที่กล้ามเนื้อจะลีบเล็กลง และกระดูกบางง่ายมีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของอวัยเพศ และการมีเพศสัมพันธ์

วิธีการเพิ่มระดับฮอร์โมน

  • ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ และกินอาหารกลุ่มที่ช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศชาย เช่น Zinc หรือแร่สังกะสี เช่น หอยนางรม

2. เอสโตรเจน (Estrogen)

คือ ฮอร์โมนเพศหญิง ผลิตจากรังไข่ และทำให้ลักษณะร่างกายของผู้หญิงมีการเติบโต มีความเป็นผู้หญิงมากขึ้น เช่น มีเต้านม สะโพกผาย มีผิวดีขึ้น เกี่ยวเนื่องกับการมีประจำเดือน การผลิตไข่ การตกไข่ และช่วยในเรื่องการทำงานของกล้ามเนื้อและกระดูก ถ้าหากเอสโตรเจนลดลง โดยเฉพาะผู้หญิงที่หมดประจำเดือนในช่วงวัย 45-50 ปี มีความเสี่ยงที่กระดูกจะบางมากขึ้น เพราะมวลกระดูกลดลง กล้ามเนื้อไม่ค่อยแข็งแรง และมีภาวะของการหมดประจำเดือน เช่น ร้อนวูบวาบตามตัว

วิธีการเพิ่มระดับฮอร์โมน

กินอาหารที่มีเอสโตรเจนสูง เช่น น้ำมะพร้าว ถั่วเหลือง นมถั่วเหลือง แต่ก็ไม่สามารถกินในปริมาณมากเพื่อทดแทนฮอร์โมนได้

3. โปรเจสเตอโรน (Progesterone)

เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะสูงขึ้นในช่วงที่จะตั้งครรภ์หรือมีรอบเดือน เตรียมพร้อมที่จะให้ไข่ที่ได้รับจากสเปิร์มแล้วมาฝังตัว โปรเจสเตอโรนสามารถหลั่งได้จากรังไข่และต่อมหมวกไต ฮอร์โมนตัวนี้จะกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว ในช่วงที่มีรอบเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกจะหนาขึ้นเตรียมพร้อมกับการฝังตัวของตัวอ่อนในการตั้งครรภ์ ถ้าไม่มีการฝังตัวของตัวอ่อนระดับโปรเจสเตอโรนจะลดลง เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน ถ้ามีการตั้งครรภ์โปรเจสเตอโรนจะยังคงระดับสูง รักษาไม่ให้มดลูกบีบตัวและยังสูงตลอดการตั้งครรภ์

ฮอร์โมนในร่างกายที่กล่าวมา คือสารธรรมชาติที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เอง สามารถกระตุ้นสร้างฮอร์โมนและรักษาสมดุลของฮอร์โมนได้ด้วยการปรับพฤติกรรม เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ และการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพราะฮอร์โมนส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และสังเคราะห์มาจากสารอาหารที่เรากินเข้าไป เราจึงควรกินให้ครบทั้ง 3 มื้อและไม่ควรอดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง หากทำเป็นประจำก็สามารถรักษาระดับสมดุลของฮอร์โมนไว้ได้และช่วยให้ห่างไกลจากโรค

Sex


Profile picture

เขียนโดย สิริศักดิ์ จันทเนตร มีความสนใจในโภชนพันธุศาสตร์ และเผยแพร่ความรู้เรื่องสุขภาพให้ผู้คน